สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -12 ก.ย. 66 15:09 น.
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานวันนี้ (12 ก.ย.) ว่า การสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์ ระบุว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตน้อยกว่าที่คิดไว้ในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังซบเซาอย่างหนัก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ จีน เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กำลังดิ้นรนอย่างหนัก หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงสั้น ๆ จากการปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 โดยถูกฉุดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงไปทั่วโลก ไม่เพียงแต่ต่อตัวของจีนเองเท่านั้น
เนื่องจากความมั่งคั่งในครัวเรือน 70% เชื่อมโยงกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังซบเซาอย่างหนัก รวมไปถึงอัตราการว่างงานของเยาวชนที่เพิ่มขึ้น ความต้องการการบริโภคที่อ่อนแอ และความลังเลใจจากบริษัทเอกชนในการลงทุนในจีน ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องต่อสู้กับงานที่ยากลำบากในการฟื้นฟูการเติบโตเศรษฐกิจ Julian Evans-Pritchard หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์จีนของ Capital Economics ในสิงคโปร์กล่าวว่า “ตัวการหลักคือภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่สูญหายไปแล้วและคาดว่าจะไม่กลับมาเติบโตอีกในเร็ว ๆ นี้” พร้อมกล่าวเสริมว่า “ตนรู้สึกประหลาดใจกับการเติบโตที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปอีก” ผลสำรวจของรอยเตอร์เมื่อวันที่ 4-11 ก.ย. จากนักวิเคราะห์ 76 คน ทั้งในและนอกจีนแผ่นดินใหญ่ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีน จะเติบโต 5.0% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ 5.5% ในการสำรวจเดือนก.ค. ซึ่งคาดการณ์อยู่ระหว่าง 4.5% ถึง 5.5% ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมด ต่างพากันปรับลดแนวโน้มการเติบโตในปีนี้และปีหน้า เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน แต่ปรับลดลงไม่มากนัก ทำให้ยังเหลือพื้นที่สำหรับการปรับลดในอนาคต พร้อมกันนี้ นักเศรษฐศาสตร์บางคนกล่าวเตือนว่าจีนอาจพลาดเป้าหมายการเติบโตของรัฐบาลที่ตั้งไว้ประมาณ 5% ในปีนี้ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลที่ไม่เพียงพอ จะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
แม้ว่าข้อมูลล่าสุด จะแสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางคนกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการสนับสนุนนโยบายเพิ่มเติมสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังซบเซา ซึ่งภาคส่วนดังกล่าว คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจจีน พร้อมกันนี้ นักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมด ต่างพากันปรับลดแนวโน้มการเติบโตในปี 2567 เป็น 4.5% และ 4.3% ในปี 2568 ขณะที่การขยายตัวในไตรมาสนี้ คาดว่า จะเติบโตเพียง 4.2% หลังเติบโต 6.3% ในไตรมาสก่อน และลดลงเหลือเพียง 3.9% ในไตรมาสแรกของปี 2567 ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ ยังปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อราคาผู้บริโภค ลงเหลือ 0.6% สำหรับปีนี้และ 1.9% ในปีหน้า ซึ่งลดลงจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.1% และ 2.1% ในการสำรวจเดือนก.ค. นอกจากนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะต่ำ แต่ธนาคารกลางจีน ก็คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยหลักไว้ในปีนี้ต่อไป |