ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยในวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียอาจจะขยายตัวน้อยกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากความอ่อนแอของภาคอสังหาริมทรัพย์จีนและความเสี่ยงที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งนี้
ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจครั้งล่าสุดนี้ ADB ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียลงสู่ระดับ 4.7% ในปี 2566 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.8% โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียประกอบด้วย 46 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย แต่ไม่รวมญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
อย่างไรก็ดี ADB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียในปี 2567 ขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 4.8% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.7%
อัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB กล่าวว่า “เศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งนี้ฟื้นตัวขึ้นเมื่อพิจารณาจากการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้ว่าอุปสงค์ในต่างประเทศอ่อนแอลงซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออก
ADB ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออก, เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนและอินเดียจะขยายตัว 4.9% และ 6.3% ในปีนี้ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 5.0% และ 6.4% ตามลำดับ แต่ได้คงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจจีนและอินเดียในปี 2567 ไว้ที่ 4.5% และ 6.7% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ADB ระบุในรายงานว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนทำให้เศรษฐกิจเอเชียมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับช่วงขาลงและอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งนี้ด้วย
นายปาร์คกล่าวว่า แม้ที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียมีการขยายตัวที่แข็งแกร่งและแรงกดด้านเงินเฟ้อลดน้อยลง แต่รัฐบาลจำเป็นต้องรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงความมั่นคงด้านอาหาร
นอกจากนี้ ADB คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียจะลดลงสู่ระดับ 3.6% ในปี 2566 จากระดับ 4.4% ในปี 2565 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.5% ในปี 2567 ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางในเอเชียมีเวลามากขึ้นในการพิจารณานโยบายการเงิน