อนาคตเศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วง 2565-2570

อนาคตของเศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วงอย่างไร มาดูผลการวิเคราะห์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กันว่าตลอดช่วงปี 2565-2570 เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเปรียบเทียบกันในอาเซียนและประเทศมหาอำนาจโลก

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ได้ออกรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ World Economic Outlook ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยด้วย

นับเป็นผลการศึกษาที่น่าสนใจมาก เราจะปรับตัวอย่างไรในท่ามกลางความชะงักงันทางเศรษฐกิจ และเราอาจต้องไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงบ้างหรือไม่

จากข้อมูลล่าสุดของ IMF อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ 3.3% เท่านั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอาเซียนเพราะตกต่ำลงมาอยู่ที่อันดับที่ 8 โดยมีอัตราการเติบโตสูงกว่าเพียง 2 ประเทศ คือ

ลาว ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.2% ซึ่งใกล้เคียงกับไทย และเมียนมาที่ถูกทหารยึดอำนาจจนเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด และคาดว่าในปี 2565 นี้จะเติบโตเพียง 1.6% ในขณะที่ปี 2564 เติบโตติดลบถึง -17.9% จากที่เติบโตอย่างแรงในช่วงก่อนหน้าการยึดอำนาจนี้

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดก็คือฟิลิปปินส์ที่ 6.5% ตามมาด้วยเวียดนาม 6.0% เป็นอันดับที่ 2 ส่วนอันดับ 3 คือ บรูไน 5.8% ตามมาด้วย มาเลเซีย 5.6% อินโดนีเซีย 5.4% กัมพูชา 5.1% สิงคโปร์ 4.0% จะเห็นได้ว่า

1. ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่ำกว่าไทย (ยากจนกว่า) มีอัตราการเติบโตสูงกว่าไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซียและกัมพูชา ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ประเทศที่ยากจนกว่าไทยอาจจะแซงไทยได้ในอนาคตอันใกล้

2. ยิ่งกว่านั้นประเทศที่ร่ำรวยกว่าไทย เช่น บรูไน มาเลเซียและสิงคโปร์ ก็มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าไทยเช่นกัน ทำให้ช่องว่างระหว่างไทยกับประเทศที่พัฒนาแซงหน้าไทยไปแล้ว มีโอกาสที่จะถ่างห่างออกไปอีกในอนาคต

3. ประเทศที่ในขณะนี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าไทย คือ ลาวและเมียนมานั้น ต่างเคยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าไทย หากรถไฟความเร็วสูงจากจีนมาลาวได้เปิดดำเนินการอย่างเต็มที่ และยังมีการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานมากกว่านี้ในลาว

เช่น สนามบิน และหากเมียนมาแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้สำเร็จ ก็คงเติบโตมากเช่นเดิมอีก ไทยก็อาจถูก “หายใจรดต้นคอ” ในอนาคตอีกเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้นในการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2566-2570 นั้น IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2566 จะเติบโตสูงขึ้นเป็น 4.3% โดยเติบโตสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 6 แทนที่จะเป็นอันดับที่ 8 เช่นในปี 2565

อย่างไรก็ตามในปี 2567-2570 เศรษฐกิจไทยน่าจะหดตัวลงในการวิเคราะห์ของ IMF โดยเติบโตลดลงเหลือ 3.8% ในปี 2567 และเป็น 3.3%  3.2% และ  3.1% ในช่วงปี 2568-2570 ตามลำดับ

ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่าเมื่อเทียบกับประเทศไทย การนี้แสดงว่าประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจเท่าที่ควร

ยิ่งเมื่อเทียบกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะพบว่าในปี 2565 เศรษฐกิจของจีนจะเติบโตถึง 4.4%  ส่วนอินเดีย จะเติบโตถึง 8.2% แม้แต่สหรัฐอเมริกา ก็ยังมีอัตราการเติบโตที่ 3.7% สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ยกเว้นญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจจะเติบโตเพียง  2.4% เท่านั้น

และในช่วงปี 2566-2570 เศรษฐกิจของจีนและโดยเฉพาะอินเดียก็ยังจะเติบโตสูงกว่าไทยอีกรวม 5 ปี ทั้งนี้ยกเว้นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจอาจจะตกต่ำลงในช่วง 5 ปีข้างหน้า  แต่ฐานเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่มาก  การเติบโตเพียงเล็กน้อย ก็เพิ่มศักยภาพของประเทศได้มหาศาลเช่นกัน

 ดังนั้นสำหรับประเทศไทย หลังโควิด-19 ในปี 2565 นี้ ก็ยังไม่สดใสเท่าที่ควร เพราะจะเติบโตเพียง 3.3% ในปี 2565 นี้เท่านั้น ซึ่งเท่ากับเติบโตเป็นอันดับที่ 8 ของอาเซียน และยังต่ำกว่าจีน อินเดียและสหรัฐอเมริกา (ยกเว้นญี่ปุ่นที่ยังซึมยาว) 

เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นบ้างในปี 2566 โดยน่าจะเติบโตได้ที่ 4.3% ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ไทยยังไม่เคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงระดับนี้เลย  แต่ในปี 2567-70 เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ลดลง จาก 3.8% ในปี 2567 เป็น 3.1% ในปี 2570

ในปี 2570 รายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยเทียบกับต่างประเทศ เป็นดังนี้:
สิงคโปร์    595%    แสดงว่าชาวสิงคโปร์มีรายได้เป็น 6 เท่าของคนไทย
บรูไน    335%    แสดงว่าชาวบรูไนมีรายได้เป็น 3 เท่าเศษของคนไทย
มาเลเซีย    156%    แสดงว่าชาวมาเลเซียมีรายได้มากกว่าคนไทยถึง 56%
ไทย    100%
อินโดนีเซีย    73%    แสดงว่าชาวอินโดนีเซียมีรายได้ประมาณสามในสี่ของรายได้ของคนไทย
เวียดนาม    69%    แสดงว่าชาวเวียดนามมีรายได้ราวสองในสามของรายได้ของคนไทย
ฟิลิปปินส์    52%    แสดงว่าชาวฟิลิปปินส์มีรายได้เพียงครึ่งหนึ่งของรายได้ของคนไทย
ลาว    42%    แสดงว่าชาวลาวมีรายได้เกือบครึ่ง (42%) ของรายได้ของคนไทย
กัมพูชา    28%    แสดงว่าชาวกัมพูชามีรายได้เพียงหนึ่งในสี่ของรายได้ของคนไทย
เมียนมา    22%    แสดงว่าชาวเมียนมามีรายได้เพียงหนึ่งในห้าของรายได้ของคนไทย
สหรัฐอเมริกา    324%    แสดงว่าชาวอเมริกันมีรายได้ราว 3 เท่าตัวของคนไทย
ญี่ปุ่น    210%    แสดงว่าชาวญี่ปุ่นมีรายได้มากกว่าคนไทย 1 เท่าตัว
จีน    110%    แสดงว่าคนจีนโดยเฉลี่ยมีรายได้มากกว่าคนไทยราว 10%
อินเดีย    44%    แสดงว่าชาวอินเดียมีรายได้เกือบครึ่ง (44%) ของรายได้ของคนไทย

การที่เศรษฐกิจไทยยังไม่มีวี่แววที่จะ “รุ่งเรือง” แบบก้าวกระโดด เช่น กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อาจทำให้ประเทศเหล่านี้แซงไทยไปได้ในด้านรายได้ประชาชาติต่อหัวในอนาคต และยิ่งทำให้การลงทุนจากต่างประเทศถูกแย่งชิงโดยประเทศอื่นมากขึ้น

การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ก็คงไม่เติบโตอย่างมาก ยกเว้นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย  ส่วนอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ เช่น อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม ก็คงไม่ได้เติบโตในอัตราสูงเช่นเดิม

สำหรับประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยคืออินโดนีเซียและเวียดนาม หากสมมติว่าในช่วงหลังปี 2570 เป็นต้นไป ไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.5% ต่อปี แต่อินโดนีเซียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 6% และเวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 6.5% ต่อปี

จะพบว่าภายในปี 2583 ทั้งสองประเทศจะมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับประเทศไทย  และมีโอกาสที่ประเทศทั้งสองที่มีขนาดประชากรมากกว่าไทย จะแซงหน้าไทย และอาจทำให้ประเทศไทย “ซึมยาว” ในอนาคต

อาจกล่าวได้ว่าแม้ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะเติบโตสวนกระแสอสังหาริมทรัพย์อื่น ก็ยังมีปัจจัยลบสำคัญมาก เช่น ค่าก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นมาก ประมาณ 10-15% ในปี 2565 และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยคงจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ทำให้โอกาสการพัฒนาที่อยู่อาศัยก็จะลดลงเช่นกัน ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2566-2570 ก็อาจหดตัวลงเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย

การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องหาทางทำให้สำเร็จ แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้อง “ขายชาติ” เพราะอย่างในสิงคโปร์ ก็เพิ่งขึ้นภาษีซื้ออสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติเป็น 35%-40% แล้ว

ทางออกของนักลงทุน อาจต้องไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์บ้าง เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง สร้างผลกำไร และเป็นการสร้างแบรนด์อีกประการหนึ่ง.
คอลัมน์:อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน
ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย

Join The Discussion

Compare listings

Compare